สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

          ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกอบด้วย ป่าชายเลน ชายหาด น้ำทะเล ปะการัง รวมไปถึงสัตว์น้ำต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีความสวยงาม อย่างไรก็ดี ทรัพยากรเหล่านี้กำลังถูกคุกคาม เอาเปรียบจากมนุษย์ที่ไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมต่อการถ่ายเทสารอาหารและพลังงานระหว่างระบบนิเวศป่าบกและระบบนิเวศทางทะเล จึงมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นแหล่งอาหารที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ช่วยป้องกันชายฝั่งจากการพังทลาย และช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำ สำหรับความสำคัญต่อมนุษย์ ป่าชายเลนเป็นแหล่งไม้ใช้สอย ไม้ฟืน ถ่าน ไม้เสาเข็ม แหล่งสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยังมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียของชุมชนอีกด้วย

          จากอดีตถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยได้ถูกบุกรุกทำลาย และมีบางส่วนถูกเปลี่ยนสภาพไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้ง แหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เป็นต้น ทำให้ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ก็มีสภาพเสื่อมโทรม ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระราชินีในการฟื้นฟูป่าชายเลน โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การปลูกป่าชายเลนในพื้นที่สำคัญเร่งด่วน และการกำหนดเขตพิทักษ์ป่าชายเลนรักษ์สัตว์น้ำ

          นอกเหนือจากป่าชายเลนแล้ว ประเทศไทยยังมีแนวปะการังที่สวยงามและมีความสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันแนวปะการังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จนเกินศักยภาพในการรองรับ ซึ่งความเสื่อมโทรมของแนวปะการังอาจมีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การขุดแร่หรือการก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง การระเบิดปลา การท่องเที่ยวที่เกินศักยภาพในการรองรับและขาดจิตสำนึก การลักลอบเก็บปะการังหรือปลาสวยงาม เป็นต้น อย่างไรก็ตามสภาพแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงดำเนินการติดตามศึกษาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ได้กำลังดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวปะการังให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ทำให้ทราบว่าแนวปะการังทางฝั่งอ่าวไทยมีสภาพเสื่อมโทรมลงจากเดิมมาก ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันมีแนวโน้มว่าแนวปะการังฟื้นตัวอยู่ในสภาพดีขึ้นกว่าเดิม

          นอกจากนี้ในทะเลไทยยังพบหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย และแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เราจะพบหญ้าทะเลได้ทั้งชายฝั่งทะเลอันดามันและชายฝั่งอ่าวไทย แต่ปัจจุบันมีความเสื่อมโทรมลง เนื่องจากตะกอนโคลนและทรายจากการพัฒนาชายฝั่งและการทำเหมืองแร่ในทะเล

          นอกจากพืชแล้ว ทะเลไทยยังพบสัตว์หายาก เช่น เต่าทะเล ซึ่งพบในประเทศไทย 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุหรือเต่าแสงอาทิตย์ เต่ากระ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้าหรือเต่าสังกะสีหรือเต่าทะเลริดเลย์ และเต่าหัวฆ้อนหรือเต่าหัวโตหรือเต่าลอกเกอร์เฮด แต่จำนวนเต่าลดลงกว่าเมื่อ 15 ปีก่อนถึงร้อยละ 90 สาเหตุที่ทำให้เต่าทะเลลดลงเกิดจากอัตราการรอดของลูกเต่าทะเลเองในธรรมชาติต่ำมากและใช้เวลานานกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ การลักลอบเก็บไข่เต่าเพื่อไปรับประทาน หรือติดเครื่องมือประมงทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ สภาพแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรม หลักการอนุรักษ์ที่ถูกต้องและได้ผลระยะยาว คือการควบคุมสภาพแวดล้อมแหล่งที่อยู่อาศัยตลอดจนควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เต่าทะเลลดลง และปล่อยเต่าให้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ

          พะยูนเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่นับวันยิ่งหายากขึ้นในทะเลไทย ทั้งที่ในอดีตเคยมีอยู่มากในทะเลทั้งชายฝั่งทะเลอันดามันและชายฝั่งอ่าวไทย จากการสำรวจทางฝั่งทะเลอันดามันในปี พ.ศ. 2544 พบพะยูนที่จังหวัดตรังเพียง 123 ตัว ส่วนจังหวัดอื่นๆ พบเพียงกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 1-18 ตัว สาเหตุเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยจากธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมชายฝั่งมีผลกระทบต่อพะยูน เนื่องจากพะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหารซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่ง ประกอบกับพะยูนมีลักษณะอุ้ยอ้าย ง่ายต่อการทำร้ายและถูกล่า นอกจากนี้หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารก็ลดน้อยลง ปัจจัยจากมนุษย์ ประชาชนในท้องถิ่นยังนิยมบริโภคเนื้อพะยูนอยู่ ทำให้มีการลักลอบฆ่า อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐได้มีมาตรการการอนุรักษ์ขึ้น โดยออกเผยแพร่ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความสำคัญของพะยูน การรักษาหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน การงดใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูน เพื่อคงรักษาชีวิตพะยูนไว้

ที่มา   http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/

ใส่ความเห็น